หอจดหมายเหตุ :

เรื่องราวความเป็นมา


หน้าแรก | ความเป็นมา | การเติบโต | ทำเนียบผู้บริหาร | เกียรติภูมิรำไพฯ | ภาพเก่าเล่าอดีต

คติธรรมประจำวิทยาลัย

     สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ประทานคติธรรมประจำวิทยาลัยรำไพพรรณี สหวิทยาลัยศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2533 เป็นภาษาบาลีว่า

“ ปณฺฑิโต นิปุณํ สํวิเธติ ” แปลว่า “ บัณฑิต ย่อมฉลาดจัดการ ”

  • พ.ศ. 2476 โรงเรียนฝึกหัดครูจันทบุรี
  • พ.ศ. 2515 วิทยาลัยครูจันทบุรี
  • พ.ศ. 2528 วิทยาลัยรำไพพรรณี

ความเป็นมา

      วิทยาลัยครูจันทบุรีที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้มีกำเนิดเนื่องมาจาก นายส่ง เหล่าสุนทร ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เมื่อปี 2512 ได้ดำริที่จะขอให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษาขึ้น โดยทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2512 มีใจความสรุปได้ว่า จังหวัดประสงค์จะยกที่ดินสาธารณะประโยชน์หนองตะพอง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี จำนวน 1,224 ไร่ 60 ตารางวา ให้เป็นสถานที่ก่อสร้างวิทยาลัยวิชาการศึกษาขึ้น ในครั้งนั้นศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร อธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้มาดูสถานที่แล้วเห็นชอบด้วย แต่การจัดตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษายังไม่อาจดำเนินการให้ทันความต้องการของจังหวัดได้ ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2514 นายชั้น สุวรรณทรรภ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี คนต่อมาได้ทำหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้จัดตั้งวิทยาลัยครูขึ้นก่อนแล้วจึงขยายเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษาในภายหลัง โดยใช้สถานที่หนองตะพองเช่นกัน กองโรงเรียนฝึกหัดครู กรรมการฝึกหัดครูจึงได้มาทำการสำรวจสถานที่อีกครั้งหนึ่ง และนอกจากสำรวจสถานที่ที่หนองตะพองแล้ว ยังได้ทำการสำรวจสถานที่ “สวนบ้านแก้ว” ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ซึ่งตั้งอยู่ ณ เลขที่ 41 หมู่5 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี จากการสำรวจในครั้งนั้น กรรมการฝึกหัดครูได้ทำบันทึกเสนอกระทรวง ลงวันที่ 8 มีนาคม 2515 เลือกสวนบ้านแก้วเป็นสถานที่จัดตั้งวิทยาลัยโดยมีเหตุผลหลายประการ คือ

  • 1. อยู่ใกล้ตัวเมือง
  • 2. มีบริการน้ำ-ไฟพร้อมอยู่แล้ว
  • 3. ไม่ต้องเสียเงินปรับปรุงที่ดิน และทำถนนมากนัก เพราะมีถนนอยู่แล้ว
  • 4. มีไม้ยืนต้น และสวนผลไม้อยู่แล้ว
  • 5. สามารถเปิดทำการสอนได้ทันทีในปีการศึกษา 2516

      ส่วนข้อเสียของที่ดินแปลงนี้ก็คือ ต้องเสียเงินจัดซื้อ ในที่สุดกรรมการฝึกหัดครูได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้ขอซื้อจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในราคา 18 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2515 ซึ่งพระองค์ท่านก็พระราชทานให้ด้วยความเต็มพระทัย ทั้งนี้เพื่อความเจริญในด้านการศึกษาของจังหวัดและของชาติ กับทั้งมีพระราชประสงค์ให้ขยายเป็นมหาวิทยาลัย และใช้พระนามของสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นชื่อมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งนับได้ว่าเป็นมหามงคลนิมิตเป็นอย่างดี สถานที่สวนบ้านแก้วนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้เสด็จมาประทับเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2493 หลังจากเสด็จกลับจากประเทศอังกฤษ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้วพระองค์ทรงสร้างสวนบ้านแก้วเป็นพระราชฐานพร้อมทั้งทำสวน และทำอุตสาหกรรมพื้นเมืองขึ้นเป็นเวลานานถึง 21 ปี 11 เดือน 26 วัน พระองค์จึงเสด็จไปประทับ ณ พระราชวังสุโขทัยเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2515 นับว่าพระองค์ทรงเสียสละเป็นอย่างมาก เพราะอาคารสถานที่ตลอดสิ่งต่างๆ ที่ในพระราชฐานนี้มีมูลค่ามากกว่าที่ซื้อมากนัก

      ต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2515 กระทรวงศึกษาธิการ โดยนายบุญถิ่น อัตถากร ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศตั้งวิทยาลัยครูขึ้นใหม่คือ “วิทยาลัยครูจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี” ให้เปิดสอนถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง และให้วิทยาลัยครูจันทบุรีสังกัดกองโรงเรียนฝึกหัดครู กรมการฝึกหัดครูตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2515 เป็นต้นไป โดยมีนายชัยมงคล สุวพานิช อาจารย์เอกวิทยาลัยครูจันทรเกษม มารักษาราชการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่วิทยาลัยครูจันทบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2515

     เนื่องจากวิทยาลัยต้องเปิดทำการสอนให้ทันในภาคกลางปีการศึกษา 2515 จึงได้มีการปรับปรุงอาคารสถานที่เก่าที่มีอยู่เดิมให้เป็นสถานศึกษา เช่นปรับปรุงโรงเก็บวัสดุให้เป็นห้องเรียน ปรับปรุงบ้านพักคนงานให้เป็นหอพักนักศึกษาหญิง ปรับปรุงโรงไสไม้ โรงเลี้ยงไก่ บ้านพักคนงานให้เป็นหอพักนักศึกษาชาย ขณะเดียวกันกรมการฝึกหัดครูก็ได้ให้งบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว 1 หลัง เพื่อใช้เป็นห้องเรียน

      วิทยาลัยได้เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2515 โดยรับนักศึกษา ชาย-หญิง จำนวน 117 คน ซึ่งเป็นนักศึกษา ป.กศ. ปีที่ 1 จากวิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดระยอง จันทบุรี และ ตราด มีอาจารย์ 27 คน เป็นอาจารย์ที่ขอย้ายมาจากสถานฝึกหัดครูอื่น และบรรจุใหม่มาทำงานร่วมกันในระยะแรก ในปีต่อมาจึงมีครู อาจารย์ และนักศึกษา เพิ่มขึ้นตามลำดับ